กรดไหลย้อนโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหารที่ตรวจพบได้มากในปัจจุบัน ถึงแม้อาการของโรคจะไม่รุนแรงถึงชีวิต แต่ก็สร้างผลกระทบต่อชีวิตประจำวันอยู่ไม่น้อย ซึ่ง กรดไหลย้อนรักษา ได้ง่าย ๆ เพียงแค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เหมาะสมเท่านั้น
กรดไหลย้อนคืออะไร
กรดไหลย้อน ( gastroesophageal reflux disease : GERD ) คือ โรคที่เกิดจากน้ำย่อยหรือแก๊สซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรดที่อยู่ในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นมาที่บริเวณหลอดอาหาร ทำให้หลอดอาหารเกิดอาการระคายเคือง หากมีการไหลย้อนในปริมาณที่มากหรือระยะเวลานาน อาจทำให้หลอดอาหารเกิดอาการอักเสบได้
สาเหตุของโรคกรดไหลย้อน
กรดไหลย้อนสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ สำหรับในเด็กกรดไหลย้อนจะมีความรุนแรงน้อยและหายได้เองเมื่อโตขึ้น ซึ่งสาเหตุที่ของโรคกรดไหลย้อนมีดังนี้
- ความผิดปกติของหลอดอาหาร ถ้าหลอดอาหารมีการบีบตัวช้าจะทำให้อาหารที่ค้างอยู่ในหลอดอาหารนานกว่าปกติจึงก่อให้เกิดการสะสมของอาหารและเกิดแก๊สที่หลอดอาหารได้ นอกจากนี้การที่หลอดอาหารบีบตัวช้าจะทำให้ไม่สามารถผลักดันอาหารที่ไหลขึ้นมาจากกระเพาะอาหารลงไปได้ จึงเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะกรดไหลย้อน
- ความผิดปกติของกล้ามเนื้อหูรูด โดยปกติที่บริเวณส่วนบนและส่วนล่างของกระเพาะอาหารจะมีกล้ามเนื้อหูรูดทำหน้าที่เปิดรับอาหารและปิดเพื่อป้องกันไม่ให้อาหาร น้ำย่อยและแก๊สที่อยู่ในกระเพาะอาหารไหลออกไปได้ หากกล้ามเนื้อหูรูดมีความผิดปกติก็จะไม่สามารถกั้นไม่ให้อาหาร น้ำย่อยและแก๊สที่อยู่ในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับไปยังหลอดอาหาร จึงทำให้เกิดภาวะกรดไหลย้อน
- ความผิดปกติของกระเพาะอาหาร หากกระเพาะอาหารมีการบีบตัวช้าจะทำให้อาหารคงอยู่ในกระเพาะอาหารนานกว่าปกติ ทำให้เกิดการสะสมของน้ำย่อยและแก๊สสูง จึงเกิดแรงดันทำให้น้ำย่อยและแก๊สไหลย้อนขึ้นไปที่หลอดอาหารนั่นเอง
- พฤติกรรมการกินที่ผิดปกติ นอกจากปัจจัยทางด้านร่างกายแล้ว พฤติกรรมการกินอาหารที่ไม่เหมาะสมถือเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดภาวะกรดไหลย้อน ได้แก่
- การกินอาหารไม่เป็นเวลา การกินอาหารไม่เป็นเวลา ทำให้ระบบการทำงานของหลอดอาหาร กล้ามเนื้อหูรูดและกระเพาะอาหารทำงานผิดปกติ
- การกินอาหารรสจัด การกินอาหารที่มีรสจัด ทั้งหวานจัด มันจัด เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด อาหารแสลง ซึ่งอาหารที่มีรสจัดจะก่อให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหารเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้แรงดันในกระเพาะสูงจึงดันอาหาร น้ำย่อยและแก๊สที่อยู่ในกระเพาะให้ย้อนกลับขึ้นมาที่บริเวณหลอดอาหาร
- การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และชา กาแฟ เครื่องดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลมและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์มากเกินไป จะทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหารสูงเกินกว่าที่กระเพาะอาหารจะรับได้ จึงดันกล้ามเนื้อหูรูดด้านบนให้เปิดออกและเคลื่อนขึ้นไปยังหลอดอาหาร
- การนอนหลังกินอาหาร หลังจากกินอาหารเข้าไปไม่ควรนอนทันที เพราะจะทำให้อาหารตกค้างอยู่ในหลอดอาหารนานกว่าปกติ ซึ่งอาจเกิดแก๊สในหลอดอาหาร ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาเหตุของภาวะกรดไหลย้อน ได้
จะเห็นว่าสาเหตุของภาวะกรดไหลย้อนมีทั้งสาเหตุทางร่างกายและสาเหตุจากการกิน ซึ่งสาเหตุจากพฤติกรรมการกินพบว่าเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดภาวะกรดไหลย้อนในปัจจุบัน ดังนั้นหากสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินให้เหมาะสม ย่อมสามารถรักษาและป้องกันภาวะกรดไหลย้อนได้
เช็กอาการกรดไหลย้อน
ภาวะกรดไหลย้อนจะมีอาการที่สามารถสังเกตได้ดังนี้
- เรอเปรี้ยว เวลาที่เรอจะมีรสเปรี้ยวหรือกลิ่นเหม็นเปรี้ยวออกมา หรือบางครั้งอาจจะมีรสขมร่วมด้วย
- แสบร้อนกลางอก เป็นอาการที่พบได้หลังจากการรับประทานอาหารมื้อหลักหรืออาหารมื้อใหญ่
- เจ็บหรือจุกที่หน้าอก เวลาที่กลืนน้ำลายจะรู้สึกเจ็บหรือจุกที่บริเวณหน้าอก คล้ายว่ามีแผลหรืออะไรติดอยู่ที่บริเวณหลอดอาหาร
- ท้องอืด หลังกินอาหารจะรู้สึกท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย
- หายใจลำบาก บางคนที่มีอาการรุนแรงจะรู้สึกหายใจลำบาก หายใจได้ไม่เต็มที่ ตามมาด้วยอาการไอและแสบคอ
ดังนั้นหากมีอาการแสบร้อนกลางอกหรือเรอเปรี้ยวที่เป็นอาการเบื้องต้นของภาวะกรดไหล ให้รีบทำการรักษาหรือไปพบแพทย์เพื่อตรวจสอบว่ามีสาเหตุมาจากอะไร จะได้ทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที
กรดไหลย้อนรักษา อย่างไร ? วิธีปฏิบัติตัวเมื่อเป็นโรคกรดไหลย้อน
ภาวะกรดไหลย้อน รักษาได้ไม่ยาก ยิ่งถ้าตรวจพบในระยะเบื้องต้น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก็สามารถรักษาให้หายได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยา โดยวิธีการปฏิบัติตัวเมื่อเป็นโรคกรดไหลย้อนเพื่อบรรเทาอาการและป้องกันไม่ให้กรดไหลย้อนกลับมาได้อีก มีวิธีดังนี้
- กินอาหารเป็นเวลา การกินอาหารเป็นเวลาจะทำให้กล้ามเนื้อหลอดอาหาร กล้ามเนื้อหูรูดและกระเพาะอาหารทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เกิดการตกค้างของอาหารในหลอดอาหารและกระเพาะอักเสบ
- งดกินอาหารรสจัดและมัน อาหารรสจัดจะทำให้เกิดแก๊สได้มาก ดังนั้นจึงควรงดอาหารรสจัดและมันจัด เพื่อลดการเกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร
- ลดชา กาแฟ น้ำอัดลมและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลมและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สามารถกินได้ แต่ควรลดปริมาณให้น้อยที่สุด โดยไม่ควรเกินวันละ 1 แก้วต่อวัน
- ดื่มน้ำเปล่ามาก ๆ น้ำเปล่าจะเข้าไปเจือจางความเข้มข้นของกรดในกระเพาะอาหาร ดังนั้นทุกวันจะต้องดื่มเปล่าอย่างน้อย 8-9 แก้ว
- ห้ามนอนหลังอาหารทันที หลังจากที่รับประทานอาหารเสร็จไม่ควรนอนราบกับพื้นทันที แต่ให้เอนหลังโดยมีองศาอย่างน้อย 60 องศา หากต้องการนอนควรนอนราบหลังจากมื้ออาหารหลักอย่างน้อย 3-4 ชั่วโมง
- กินแต่พอดี ในมื้ออาหารควรกินอาหารแต่พอดี อย่ากินมากหรืออิ่มจัดเพราะการอิ่มจัดอาหารจะลงสู่กระเพาะอาหารได้ช้า ทำให้อาหารคงอยู่ในหลอดอาหารนานขึ้น และการกินอาหารมาก ๆ ในครั้งเดียวจะทำให้กระเพาะอาหารทำงานหนัก มีการหลั่งน้ำย่อยออกมาในปริมาณมาก จึงมีความเป็นกรดสูงและเกิดแก๊สได้มาก ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดกรดไหลย้อนขึ้นมาในหลอดอาหารได้ ดังนั้นจึงควรกินแต่พออิ่มเท่านั้น
หากสามารถปรับพฤติกรรมได้ตามที่กล่าวมาข้างต้น รับรองได้ว่าอาการกรดไหลย้อนจะดีขึ้นและยังช่วยป้องกันไม่ให้เกิดภาวะกรดไหลย้อนได้อีกด้วย
ที่มา
https://www.thonburi2hospital.com/health-detail.php?id=47