10 สาเหตุโรคกระเพาะอาหาร พร้อมวิธีแก้ไขให้ได้ผลดี
10 สาเหตุโรคกระเพาะอาหาร พร้อมวิธีแก้ไขให้ได้ผลดี หลายครั้งที่มีเสียงบ่นว่าปวดท้อง มักมีคำถามตามมาเสมอว่า “ปวดท้องเพราะเป็นโรคกระเพาะอาหารใช่ไหม?? แสดงว่ากินอาหารไม่ตรงเวลาล่ะสิ” จนกลายเป็นความเคยชินแล้วว่าถ้ากินอาหารไม่ตรงเวลาจะป่วยเป็นโรคกระเพาะ แต่ในความเป็นจริงก็ไม่ได้เกิดจากสาเหตุนั่นเสมอไป … สาเหตุโรคกระเพาะอาหาร
โรคกระเพาะอาหารอักเสบ (Gastritis) หรือแผลในกระเพาะอาหารเกิดจากการอักเสบ
โรคกระเพาะอาหารอักเสบ (Gastritis) หรือแผลในกระเพาะอาหารเกิดจากการอักเสบ บวมแดง ของเยื่อบุที่อยู่ภายในกระเพาะอาหาร สามารถเกิดขึ้นได้ไม่จำกัดเพศอายุ คือเป็นได้ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ และทั้งผู้หญิงหรือ ผู้ชาย
ซึ่งบางคนอาจจะไม่แน่ใจว่าอาการปวดท้องที่เป็นอยู่ คืออาการของโรคกระเพาะอาหารอักเสบหรือไม่?? ฉะนั้นเราสามารถสังเกตอาการสำคัญของโรคกระเพาะได้ ดังนี้
– เวลาที่ท้องร้องหรือรู้สึกหิวจะเกิดอาการปวดหรือจุกแน่นท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่ แต่ยังอยู่ในขั้นที่ทนได้ อาจจะมีอาการท้องอืด ท้องขึ้น ร้อนในท้อง คลื่นไส้อาเจียน ร่วมอยู่ด้วย
– ในบางรายอาจเกิดอาการปวดหลังจากเพิ่งรับประทานอาหารหรือปวดแน่นท้องช่วงกลางดึกหลังจากนอนหลับแล้ว
– มีอาการปวดแบบเป็นๆหายๆ โดยจะเว้นช่วงออกไปค่อนข้างนานแล้วกลับมาปวดใหม่ เช่น ปวดตลอดช่วง 1-2 สัปดาห์ หลังจากนั้นผ่านไปอีกหลายเดือนจึงกลับมาปวดอีกรอบ
หรืออาจเกิดภาวะอาการแทรกซ้อนของโรคกระเพาะอาหาร อย่างเช่น
– ถ่ายเหลวเป็นสีดำ หน้ามืด อาเจียนเป็นเลือด วิงเวียน คล้ายจะเป็นลม สาเหตุมาจากมีเลือดออกจากแผลในกระเพาะอาหาร
– มีอาการปวดท้องส่วนบนขึ้นแบบเฉียบพลัน หน้าท้องแข็งเวลากดจะรู้สึกเจ็บมาก เป็นเพราะกะเพาะอาหารทะลุ
– หลังกินอาหารเกือบทุกมื้อจะอาเจียน มีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลดลง กินอาหารได้น้อย เป็นผลมาจากกระเพาะอาหารอุดตัน
เมื่อเราทราบอาการของโรคคร่าวๆแล้ว ลองมาดูถึงสาเหตุของการเกิดโรคกระเพาะอาหารกันบ้าง เพราะอย่างที่ทราบคือสามารถเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ ซึ่งไม่ได้มาจากการกินอาหารไม่ตรงต่อเวลา แต่อาจมีสาเหตุอย่างอื่นร่วมด้วยเช่นกัน
10 สาเหตุโรคกระเพาะอาหาร ที่คุณควรรู้
1. การกินพวกยาแก้อักเสบ
การกินพวกยาแก้อักเสบ หรือยาแก้ปวดกลุ่มเอนเสดส์ เช่น แอสไพริน และยากลุ่มสเตียรอยด์ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งยากลุ่มพวกนี้จะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อเมือกบุภายในกระเพาะอาหาร ทำให้อักเสบ จนก่อให้เกิดแผลภายในกระเพาะอาหาร
2. คนที่สูบบุหรี่ หรือดื่มเครื่องดื่มพวก คาเฟอีน
คนที่สูบบุหรี่ หรือดื่มเครื่องดื่มพวก คาเฟอีน เช่น กาเฟ ชา โคล่า เครื่องดื่มชูกำลัง เป็นประจำ จะทำให้เกิดอาการรุนแรงขึ้น และระคายเคืองต่อเยื่อเมือกกระเพาะอาหาร นอกจากนั้นยังกระตุ้นให้เซลล์ในเยื่อเมือกสร้างกรดมากขึ้น
3. กระเพาะอาหารติดเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori
กระเพาะอาหารติดเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori จากการที่ผู้ป่วยรับประทานอาหารไม่สุก หรืออาหารที่มีสารปนเปื้อนแบคทีเรีย Helicobacter pylori รวมทั้งได้ไปสัมผัสถูกน้ำลายหรืออุจาระของคนที่ป่วยเป็นโรคกระเพาะอักเสบ
4. โรคที่มาจากน้ำดีในตับ
โรคที่มาจากน้ำดีในตับ ซึ่งตามปกติจะพบอยู่เฉพาะในลำไส้เล็กไหลเข้าสู่กระเพาะอาหาร ซึ่งน้ำดีส่งผลให้เกิดการระคายเคืองและเซลล์เยื่อเมือกบุกระเพาะอาหารอักเสบ
5. ความเครียด
ความเครียด ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่สำคัญ เพราะเมื่อไหร่ที่เกิดอาการเครียดเซลล์ในกระเพาะอาหารก็จะหลั่งปริมาณกรดเพิ่มขึ้น ซึ่งกรดนี้จะทำให้ระคายเคืองและเยื่อบุกระเพาะอาหารอักเสบ
6. การติดเชื้อราบางชนิด
การติดเชื้อราบางชนิด ส่วนมากจะถูกพบในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มต้านทานโรคบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยโรคเอดส์
7. การเกิดอุบัติเหตุร้ายแรง
การเกิดอุบัติเหตุร้ายแรง ที่ส่งผลต่อร่างกายทำให้เกิดความเครียดสูง ซึ่งกระเพาะอาหารจะทำปฎิกิริยาด้วยการหลั่งกรดในปริมาณที่สูงมากขึ้นมาอย่างเฉียบพลัน เช่น อุบัติเหตุต่อสมอง หรือหลังการผ่าตัดใหญ่ ทำให้กระเพาะอาหารอักเสบรุนแรง หรือมีแผลในกระเพาะอาหาร
8. ดื่มกรดหรือด่างเข้าไป
ดื่มกรดหรือด่างเข้าไป ทำให้กระเพาะอาหารเกิดการระคายเคือง และเซลล์เยื่อบุกระเพาะอาหารอักเสบอย่างรุนแรง
9. การรับประทานอาหารที่ไม่ตรงต่อเวลาเป็นประจำ
การรับประทานอาหารที่ไม่ตรงต่อเวลาเป็นประจำ ซึ่งร่างกายจะจดจำเวลาที่เรารับประทานอาหารไว้ เมื่อถึงเวลาร่างกายจะหลั่งกรดออกมาเพื่อย่อยอาหารโดยอัตโนมัติ เมื่อไม่มีอาหารให้ย่อยกรดก็จะย่อยกระเพาะอาหารแทน เมื่อเป็นบ่อยๆ สุดท้ายก็จะเป็นเกิดอาการกระเพาะอาหารอักเสบในที่สุด
10. พันธุกรรม
พันธุกรรม หากคนในครอบครัวเคยมีประวัติว่าเป็นโรคกระเพาะอาหาร มีแนวโน้มที่คนอื่นในครอบครัวก็มีโอกาสที่จะเกิดโรคกระเพาะอาหารสูงด้วยเช่นกัน ฉะนั้นเมื่อเริ่มรู้สึกว่ามีอาการป่วยเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบ สิ่งที่คุณควรทำคือต้องรู้วิธีดูแลตัวเองอย่างไร เพื่อแก้ไขและป้องกันให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ
วิธีดูแลตัวเองอย่างไร เพื่อแก้ไขและป้องกันให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
• กินยาตามที่แพทย์สั่ง ให้ตรงต่อเวลาอย่างสม่ำเสมอ
• พยายาม งด/เลิก บุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮออล์ รวมทั้งพวกเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน
• รักษาสุขอนามัยขั้นพื้นฐาน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อซ้ำหลังจากที่หายจากโรคกระเพาะอาหารอักเสบแล้ว
• หลีกเลี่ยงการซื้อยาแก้ปวด หรือ ยาเสตียรอยด์ รับประทานเอง โดยไม่ได้คำสั่งจากแพทย์หรือเภสัชกรก่อน
• พยายามควบคุมสภาพจิตใจ เพื่อไม่ให้เกิดอาการตึงเครียด อาจจะออกไปสังสรรค์หรือดูรายการตลก
• เมื่อไหร่ที่แพทย์นัดดูอาการ จะต้องไปตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง หรือถ้าพบว่ามีอาการผิดปกติก็ควรไปพบแพทย์เช่นกัน
• รับประทานอาหารให้ตรงต่อเวลาในทุกมื้อ และรับประทานในปริมาณน้อยแต่รับประทานได้บ่อยมื้อ ไม่ควรปล่อยให้แน่นจนเกินไป
อย่างไรก็ดี การดูแลรักษาสุขภาพ พยายามอย่าให้กระเพาะอาหารเกิดแผล เมื่อรู้สึกว่ามีอาการควรรีบรักษาให้หายโดยเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการรักษาด้วยวิธีธรรมชาติหรือจะกินยาลดกรด ยาเคลือบกระเพาะอาหาร เพราะถ้าหากปล่อยไว้จนกลายเป็นเรื้อรัง สุดท้ายมะเร็งตัวร้ายจะเข้ามาคุกคามแทนก็ได้คะ