ลูกดื้อ 4 ไม้ตายก้นหีบ จัดการพฤติกรรมอย่างเข้าใจ

ลูกดื้อ 4 ไม้ตายก้นหีบ จัดการพฤติกรรมอย่างเข้าใจ เราอาจจะเคยคิดว่า คนที่มีลูกว่านอนสอนง่าย ไม่เคยดื้อด้านกับพ่อแม่เลย ช่างโชคดีจริงๆ ต้องบอกเลยว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับโชคอย่างแน่นอน เด็กจะโตมาเป็นเด็กดื้อหรือไม่ อยู่ที่วิธีเลี้ยงลูกดูของพ่อแม่ตั้งแต่วันแรกที่คลอดเขาออกมา

ทุกการกระทำของพ่อแม่มีผลต่อจิตใจของทารก ไม่ใช่แค่คำพูด แต่รวมถึงการสัมผัส การโอบกอด ความอบอุ่นที่ทารกได้รับ แม้แต่สภาพจิตใจของผู้เป็นแม่ก็สามารถสื่อสารถึงลูกได้เช่นเดียวกัน เราจึงต้องใส่ใจดูแลลูกของเราตั้งแต่ตอนนั้นเลย ไม่ต้องรอให้พูดกันรู้เรื่องแล้วค่อยสั่งสอนกัน นั่นอาจจะช้าไปหน่อย

แต่ถ้าเวลามันล่วงเลยจุดนั้นมาแล้ว และปรากฏว่าลูกของเราดื้อรั้นขึ้นทุกวัน ก็ต้องหาวิธีเลี้ยงลูก หรือวิธีจัดการ เพราะพฤติกรรมแบบนี้เป็นพฤติกรรมที่ไม่ดี ต้องให้เด็กได้เรียนรู้ว่าการเป็นเด็กดื้อนั้นไม่สมควร

แต่ก่อนจะไปปราบเด็กดื้อ คนเป็นพ่อและแม่ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า หมายถึงเด็กที่มีอาการต่อต้านอยู่เสมอโดยไม่จำเป็นต้องแสดงออกด้วยการโต้เถียงเสมอไป แต่เราจะรู้สึกได้ว่าเขามีคำว่า “ไม่เอา” “ไม่ทำ” “ไม่เชื่อ” อยู่ในใจตลอดเวลา ไม่ว่าเราจะพูดดีหรือพูดดุ ลูกก็จะแสดงอาการดื้อด้านออกมาให้เห็นอยู่ดี

และหากไม่จัดการอะไรเลยก็จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ทั้งหมดนี้ไม่นับรวมการที่ลูกไม่อยู่ในกรอบที่พ่อแม่ขีดไว้นะ คนละเรื่องกัน การที่ลูกไม่ทำตามคำสั่งของพ่อแม่ทุกประการไม่ใช่รูปแบบของเด็กดื้อ จะออกแนวพ่อแม่รังแกฉันเสียมากกว่าอีก ดังนั้นเช็คให้แน่ใจก่อนนะคะว่าสาเหตุลูกดื้อหรือพ่อแม่กดลูกมากเกินไปกันแน่

ลูกน้อยดื้อ

1.ตีเหล็กเมื่อร้อน

เมื่อไรที่ลูกออกอาหารดื้อด้าน เราต้องรีบจัดการทันที การปล่อยไปก่อนแล้วไปตามเก็บเอาทีหลังนั้นไม่มีประโยชน์อะไร เช่น เมื่อเดินผ่านร้านขายของเล่น แล้วลูกงอแงอยากได้ เมื่อพ่อแม่ให้เหตุผลที่ยังไม่ซื้อให้ก็ไม่ยอมฟัง ลงไปชักดิ้นชักงอกลางพื้น

แบบนี้จัดว่าลูกมีอาการดื้อและกำลังแสดงออกมา พ่อแม่ต้องจัดการเดี๋ยวนั้น ไม่ต้องรอให้ผ่านจุดนั้นไป หรือรอไปเคลียร์กันที่บ้าน แบบนั้นไม่ได้ จะอบรมหรือทำโทษต้องทำทันที แล้วเขาจะจำได้ว่าตัวเองทำผิด ได้เรียนรู้ว่าผลของการกระทำที่ไม่ดีมันเป็นอย่างไร แต่ถ้าเอาไปคุยทีหลังเขาจะไม่เข้าใจว่าพ่อแม่ว่าเขาทำไม และยิ่งกลายเป็นปัญหาครอบครัวขึ้นมาอีก

ลูกน้อยร้องไห้

2.ลงโทษต้องชัดและเหมาะสม

การลงโทษให้เขารู้ถึงผลการกระทำนั้น หากทำได้ในระดับที่พอดีจะให้ผลลัพธ์ที่ดีมาก ความเหมาะสมในการลงโทษขึ้นอยู่กับความผิดและช่วงวัย เช่น ถ้าลูกเล่นของเล่นแล้วไม่เก็บ ก็ควรลงโทษด้วยการยึดของเล่นหรือบอกเดี๋ยวนั้นเลยว่าจะไม่มีการซื้อของเล่นให้เพิ่มเติมอีก

การลงโทษแบบนี้ผลกระทบที่เด็กเข้าใจนั้นสอดคล้องกับความผิด เขาจะเรียนรู้ได้ง่าย แต่ถ้าใช้การตีให้เจ็บและดุด่า เขาจะยิ่งต่อต้านและตีความไปเองว่าพ่อแม่ไม่มีเหตุผล ที่เขาต้องเจ็บตัวไม่ใช่ความผิดของเขา แต่เป็นเพราะพ่อแม่ไม่รัก

ลูกน้อยนอนกับน้อง

3.ดูแลต่างกันเมื่อต่างช่วงวัย

เด็กตัวเล็กๆ ก่อนเข้าอนุบาล เขาเพิ่งจะเริ่มเรียนรู้เข้าใจการใช้ชีวิต ยังไม่รู้ว่าสิ่งใดผิดถูก การอบรมสั่งสอนในช่วงนี้จึงต้องนุ่มนวลและชัดเจน ใส่รายละเอียดให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ พอโตมาหน่อยเป็นช่วงอนุบาลถึงชั้นประถม ก็จะเริ่มมองเห็นแล้วว่าอะไรถูกอะไรผิด เด็กจะเริ่มรู้จักการตี การโกหก การลักขโมย การทะเลาะเบาะแว้ง พ่อแม่จึงต้องแนะนำอย่างมีเหตุผลมากขึ้น พร้อมกับทำให้ดูเป็นตัวอย่างแบบสม่ำเสมอด้วย

เมื่อเข้าสู่วัยมัธยม ลูกจะเริ่มมีโลกส่วนตัวมากขึ้น ได้รับอิทธิพลจากคนอื่นนอกเหนือไปจากพ่อแม่มากขึ้น และเข้าสู่จุดที่กำลังค้นหาตัวเองที่แท้จริง พ่อแม่จึงต้องเป็นเหมือนเพื่อนที่เขาสามารถคุยได้ทุกเรื่อง ไม่ตัดสินความคิดของเขาว่าถูกหรือผิด ไม่คอยจ้องจับความผิดแล้วต่อว่า แต่ให้คำปรึกษาอย่างสบายๆ ลูกจึงอยากจะเล่าทุกอย่างให้พ่อแม่ฟังเป็นคนแรกๆ

หอมแก้มลูกน้อย

4.ใช้คำพูดดีๆ

นี่อาจดูเป็นเรื่องเล็กน้อยที่เหมือนไม่ค่อยเกี่ยว แต่ความจริงแล้วเกี่ยวกันอย่างมากเลยทีเดียว เด็กที่ได้ยินคำพูดดีๆ จากพ่อแม่เป็นประจำ จะมีจิตใจที่แจ่มใสและมองเห็นว่าพ่อแม่นั้นน่าอยู่ใกล้ มีความรักและศรัทธาในตัวพ่อแม่ของตัวเอง เขาจะเสพแต่พลังงานด้านดีเข้าไปในตัว และช่วยขัดเกลาจิตใจให้นุ่นนวลมากขึ้น มีสติมากขึ้น และเป็นคนที่ติดการพูดดีๆ กับคนอื่นด้วยเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าสาเหตุที่ลูกดื้อมีพ่อแม่เป็นหนึ่งในสาเหตุเหล่านั้นด้วย หากนานวันลูกดื้อมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าจะลองทำตามกระบวนการข้างต้นแล้วก็ตาม คงต้องหันกลับมามองตัวเองกันแล้วว่าเราบกพร่องที่ตรงไหนหรือไม่ เราทำสิ่งใดรุนแรงหรือเกินเลยมากไปหรือไม่ เพราะอย่าลืมนะว่าการสอนด้วยคำพูดนั้นมันไม่ฝังลึกลงในจิตใจของลูกได้เท่ากับการกระทำของคนเป็นพ่อและแม่

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. https://www.maerakluke.com/topics/5419
  2. https://th.theasianparent.com/เด็กดื้อไม่เชื่อฟัง-พฤติกรรมไม่ดีต้องหยุด
  3. https://www.amarinbabyandkids.com/pre-school/good-reasons-stubborn-child